บอร์ด รฟท.เคาะปลดล็อก “รฟฟท.” ทำธุรกิจหารายได้เพิ่ม “โอมิครอน” ฉุดผู้โดยสารสีแดงเหลือ 8,000 คน

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

บอร์ด รฟท.ตั้ง กก.บริษัท รฟฟท.ส่ง “ผอ.สนข.และอธิบดี ทย.” ช่วยบริหารสีแดง พร้อมเคาะปลดล็อกเพิ่มพันธกิจ ขยายช่องทางทำธุรกิจอื่นเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ เล็งรับจ้างอบรมและซ่อมบำรุง ขณะที่ผู้โดยสารสีแดงลดเหลือ 8 พันคน/วันหลัง “โอมิครอน” ระบาดหนัก

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2565 มีมติเห็นชอบแต่งตั้งกรรมการ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) เพิ่มเติมจำนวน 2 คน ได้แก่ นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ในฐานะผู้แทนกระทรวงคมนาคม และนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ โดยได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เรียบร้อยแล้ว

ก่อนหน้านี้ บอร์ด รฟท.ได้เห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการ รฟฟท.ไป 2 คน ได้แก่ นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการ รฟท. กลุ่มบริหารรถไฟฟ้า และนายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รฟฟท. (เลขานุการคณะกรรมการ) โดยมี นายระพี ผ่องบุพกิจ เป็นประธานกรรมการบริหาร ทำให้ขณะนี้บอร์ด รฟฟท.มีจำนวน 5 คน ซึ่งทำให้สามารถดำเนินการบริหารและพิจารณาต่างๆ ได้ตามปกติ ทั้งนี้ บอร์ด รฟฟท.จะมีจำนวนทั้งหมด 11 คน ซึ่งคาดว่าจะทยอยแต่งตั้งให้ครบจำนวนต่อไป

นายนิรุฒกล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟท.ยังมีมติเห็นชอบให้ รฟฟท.เพิ่มพันธกิจในการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าและพิจารณาให้สามารถขยายช่องทางด้านธุรกิจอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัท ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมได้กำหนดพันธกิจ รฟฟท.เดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์เรลลิงก์ ต่อมาได้มีการเพิ่มพันธกิจให้เดินรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ซึ่งการเพิ่มพันธกิจให้สามารถขยายช่องทางด้านธุรกิจอื่นๆ ครั้งนี้ เพื่อให้ รฟฟท.มีความคล่องตัวมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจที่มีความรู้ ความสามารถเพื่อเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้ รฟท.อีกทางหนึ่งด้วย โดยให้เสนอบอร์ด รฟท.ขออนุมัติอีกครั้งเมื่อจะมีการดำเนินการใดๆ

ด้านนายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รฟฟท. กล่าวว่า การเพิ่มพันธกิจให้บริษัทฯ เพื่อเป็นการปลดล็อก เปิดช่องทางเพื่อให้บริษัทฯ มีความคล่องตัวในการดำเนินการด้านรถไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสในการหารายได้เพิ่มในอนาคต เช่น รับจ้างฝึกอบรมบุคลากรด้านระบบราง รับจ้างซ่อมบำรุง รับจ้างเดินรถ เป็นต้น ซึ่งบริษัทฯ มีประสบการณ์ในการเดินรถไฟฟ้ามา 10 ปี ก่อนหน้านี้มีผู้แสดงความสนใจแต่บริษัทฯ ไม่สามารทำได้ แต่เมื่อได้รับอนุมัติแล้วก็จะเป็นการสร้างโอกาสในอนาคต

สำหรับจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันหลังจากให้บริการเชิงพาณิชย์ที่มีการจัดเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนเกือบถึง 13,000 คน/วัน ช่วงเดือ นธ.ค. 2564 แต่หลังเกิดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีมาตรการ work from home ทำให้จำนวนผู้โดยสารปรับลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 8,000 คน/วัน ทั้งนี้คาดว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดโอมิครอนลดลง จำนวนผู้โดยสารก็จะกลับมาเพิ่มขึ้น

ส่วนกรณีที่มีการลักลอบตัดสายใยแก้วนำแสงรถไฟฟ้าสายสีแดง ขณะนี้ได้ดำเนินการป้องกันแก้ไขอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้การเดินรถสายสีแดงเป็นไปตามปกติ โดยในเดือน ธ.ค. 2564 ระดับการให้บริการมีความตรงต่อเวลา 99.45% โดยสายเหนือ (บางซื่อ-รังสิต) อยู่ที่ 99.66% สายตะวันตก (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) 99.07% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐาน สนข.กำหนดที่ 98.5%

ขณะที่ความน่าเชื่อถือรวมอยู่ที่ 99.52% โดยสายเหนืออยู่ที่ 99.98% สายตะวันตกอยู่ที่ 98.97% มีระยะทางวิ่งให้บริการรวม 162,057 กม. (สายเหนือ 105,510 กม., สายตะวันตก 56,547 กม.) มีจำนวนเที่ยวให้บริการรวม 7,737 เที่ยว (สายเหนือ 4,289 เที่ยว, สายตะวันตก 3,448 เที่ยว)

รฟม.คุมเข้มไซต์ก่อสร้าง “สายสีส้ม” ลดฝุ่น PM 2.5 ตามรายงาน EIA เคร่งครัด

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยกำชับให้ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาทุกสัญญาติดตั้งระบบพ่นละอองน้ำลดฝุ่นละออง และจัดรถดูดฝุ่นเพื่อทำความสะอาดถนนสาธารณะตามแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ทุกวันเพื่อลดผลกระทบด้านฝุ่นละออง และปฏิบัติตามมาตรการด้านฝุ่นละอองที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA อย่างเคร่งครัด

เช่น การล้างทำความสะอาดถนนเป็นประจำ การทำความสะอาดล้อรถก่อนออกจากพื้นที่ก่อสร้าง การตรวจสอบสภาพเครื่องจักร/รถบรรทุก รวมทั้งได้ประสานขอความร่วมมือผู้รับจ้างงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง

ทั้งนี้ งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ยังดำเนินการไปได้ตามแผนงานเพื่อให้สามารถคืนผิวจราจรแก่ประชาชนได้สัญจรตามปกติได้โดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยให้การจราจรคล่องตัวมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นการบรรเทามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างยั่งยืน

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business